ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $8.70 นลท.รุกซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก

ข่าวต่างประเทศ Friday February 21, 2020 07:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) และทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.70 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,620.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2556

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 0.8 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 18.319 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 25.5 ดอลลาร์ หรือ 2.54% ปิดที่ 979 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2.70 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,573.90 ดอลลาร์/ออนซ์

นักลงทุนยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 รายแรกในประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า มีผู้โดยสารบนเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส จำนวน 2 รายเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ราย

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ระยะเวลา 1 ปี โดยปรับลดลง 0.10% สู่ระดับ 4.05% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปี ลง 0.05% สู่ระดับ 4.75% โดยมีเป้าหมายที่กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ด้านธนาคารซิตี้กรุ๊ปปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาทองในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์ พร้อมกับคาดการณ์ว่า ราคาทองจะพุ่งสูงกว่าระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ประบุว่า ปัจจัยหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคือความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ