สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 7 เมื่อคืนนี้ (21 ก.พ.) และแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2556 เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลง และดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ได้กระตุ้นแรงซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยด้วย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 28.3 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 1,648.8 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองปรับขึ้น 3.9%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 21.1 เซนต์ หรือ 1.15% ปิดที่ 18.53 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.9 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 976.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 31.50 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,605.4 ดอลลาร์/ออนซ์
นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซา โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 76 เดือน จากระดับ 53.3 ในเดือนม.ค.
ดัชนี PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐประสบภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2556 หลังจากมีการขยายตัวยาวนานเกือบ 4 ปี
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลง และเกิดภาวะ inverted yield curve เป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ได้กระตุ้นแรงซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ ราคาทองยังได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.58% สู่ระดับ 99.28
ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะช่วยหนุนราคาทองปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นสามารถซื้อทองได้ในราคาที่ถูกลง