ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดร่วง $30.2 นลท.เทขายทองเพื่อถือเงินสดหลังตลาดหุ้นทรุดหนัก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 17, 2020 07:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 30 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เทขายทองคำเพื่อถือเงินสด หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ยาแรงด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินและอัดฉีดเงินผ่านการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ตาม

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 30.2 ดอลลาร์ หรือ 1.99% ปิดที่ 1486.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2562

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.684 ดอลลาร์ หรือ 11.61% ปิดที่ 12.816 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 86.2 ดอลลาร์ หรือ 11.59% ปิดที่ 657.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,514.10 ดอลลาร์/ออนซ์

นักลงทุนแห่เทขายทองคำเพื่อถือเงินสด หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนักจนทำให้ต้องประกาศใช้ระบบ circuit breaker เพื่อพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาทีเมื่อคืนนี้ ซึ่งถือเป็นการใช้ครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลว่า การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และอัดฉีดเงินผ่านการทำ QE วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์นั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19

นักวิเคราะห์จากบริษัทอินซิกเนีย คอนซัลแทนท์ กล่าวว่า การที่หลายประเทศประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ส่งผลให้นักลงทุนตื่นตระหนก และเทขายสินทรัพย์ทุกอย่างซึ่งรวมถึงทองคำ เพื่อถือเงินสดเอาไว้

ข้อมูลล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 169,387 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6,513 ราย ส่วนในสหรัฐเพียงประเทศเดียวนั้น มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 3,774 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 69 ราย

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวอเมริกันระงับการจัดกิจกรรมทางสังคมเป็นเวลา 15 วัน และหลีกเลี่ยงรวมตัวกันมากกว่า 10 คน ซึ่งถือเป็นความพยายามเชิงรุกในการลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ