สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 68.5 ดอลลาร์ หรือ 4.07% ปิดที่ 1,752.8 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2555
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 84.8 เซนต์ หรือ 5.58% ปิดที่ 16.053 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 15 ดอลลาร์ หรือ 2.04% ปิดที่ 748.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.80 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,110 ดอลลาร์/ออนซ์
เมื่อพิจารณาตลอดทั้งสัปดาห์พบว่า สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นราว 7% โดยตลาดทองคำนิวยอร์กจะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 10 เม.ย. เนื่องในวัน Good Friday ดังนั้น การซื้อขายในวันพฤหัสบดีที่ 9 เม.ย.จึงถือเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำพุ่งขึ้น หลังจากดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.67% สู่ระดับ 99.45 เมื่อคืนนี้ โดยดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะช่วยหนุนราคาทองปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นสามารถซื้อทองได้ในราคาที่ถูกลง
ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฟดจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีพนักงานไม่เกิน 10,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวจะมีวงเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 25 ล้านดอลลาร์
เฟดระบุว่าโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมีวงเงินรวม 6.50 แสนล้านดอลลาร์ โดยนอกจากการปล่อยสินเชื่อกับภาคธุรกิจแล้ว มาตรการของเฟดยังรวมถึงโครงการประกันรายได้ของพนักงาน และมาตรการอื่นๆ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.25 ล้านราย โดยการพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก