ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงไม่แน่ใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ณ เวลา 22.34 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดีดตัวขึ้น 10.30 ดอลลาร์ หรือ 0.59% สู่ระดับ 1,744.70 ดอลลาร์/ออนซ์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรุดตัวลง 16.4% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2535 และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 12.3% หลังจากลดลง 8.3% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการปิดร้านค้า ขณะที่ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และลดการใช้จ่าย รวมทั้งลดการเดินทาง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 30.2% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 891,000 ยูนิต จากระดับ 1.276 ล้านยูนิตในเดือนมี.ค.
ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดังกล่าวแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ราคาทองได้พุ่งขึ้นมากกว่า 16% จากต้นปีนี้ ขานรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางหลายแห่งเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งเข้าให้การต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับมาตรการของเฟดและของรัฐบาลในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อดูแลการทำงานของตลาด และจะอัดฉีดเงินให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น
ส่วนนายมนูชินกล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นสิ่งท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อชาวอเมริกัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศ
นายมนูชินกล่าวปกป้องการใช้จ่ายเงินตามกฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security (CARES) วงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ นายมนูชินกล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานธุรกิจขนาดย่อม (SBA) เกี่ยวกับโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการปล่อยเงินกู้วงเงิน 5.30 แสนล้านดอลลาร์แก่ภาคธุรกิจ จะช่วยรักษาการจ้างงานสำหรับชาวสหรัฐจำนวนหลายสิบล้านคน
นายมนูชินยังระบุว่า กระทรวงการคลังสหรัฐได้จ่ายเงินมากกว่า 2.40 แสนล้านดอลลาร์ตามโครงการ Economic Impact Payments ให้กับชาวอเมริกันหลายล้านคน ขณะที่จ่าย 1.50 แสนล้านดอลลาร์จากกองทุน Coronavirus Relief Fund ให้แก่รัฐบาลประจำรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินงานที่จำเป็นต่อไป
นายมนูชินเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังได้อนุมัติงบเกือบ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อรักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐ