ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดร่วงลงกว่า 100 ดอลลาร์ ใกล้หลุดแนว 1,930 ดอลลาร์ ทำสถิติทรุดหนักสุดในรอบ 7 ปี หลังมีข่าวว่า รัสเซียได้จดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นประเทศแรกในโลก
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์เคยเตือนว่า ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะฉุดราคาทอง หลังจากที่พุ่งขึ้นในระยะนี้
นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท, แรงขายทำกำไรในตลาด และความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
ณ เวลา 01.13 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 106.90 ดอลลาร์ หรือ 5.24% สู่ระดับ 1,932.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซียรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่า รัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการจดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
"เท่าที่ผมทราบ รัสเซียได้จดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เมื่อเช้านี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก" ปธน.ปูตินกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีรัสเซียวันนี้
"วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมาก โดยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันอย่างมีเสถียรภาพ และวัคซีนนี้ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว" ปธน.ปูตินกล่าว
ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกในเวลาไม่ถึง 2 เดือน และจะมีการเริ่มทดลองในเฟส 3 ในไม่ช้า
นอกจากนี้ ปธน.ปูตินยังเปิดเผยว่า บุตรสาวคนหนึ่งของเขาได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้ว โดยได้เข้าเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งในโครงการทดลองวัคซีน
นายยุง-ยู หม่า หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการลงทุนของบริษัทบีเอ็มโอ เวลธ์ แมเนจเมนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาทองให้ดีดตัวขึ้น แต่ก็มี 2 เหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาทอง
"2 เหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางราคาทอง ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 และการเลือกตั้งในสหรัฐ" นายหม่ากล่าว
นายหม่าระบุว่า วัคซีนต้านโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะสกัดปัจจัยบวกที่กำลังหนุนราคาทอง
ทางด้านเธิร์ด บริดจ์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นสำนักวิจัย ระบุว่า ราคาทองอาจดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นต่อไปในปีหน้า
ขณะเดียวกัน ราคาทองยังถูกกระทบจากความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และสภาคองเกรสจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้
นายมนูชินกล่าวว่า ยังคงมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และกฎหมายดังกล่าวจะสามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส