ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งกว่า 1% หลุด 1,930 ดอลลาร์ สวนทางหุ้นพุ่งรับถ้อยแถลงเฟด

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 27, 2020 21:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 1,930 ดอลลาร์ในวันนี้ สวนทางตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนหันไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ขานรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ

นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากคำสั่งขายทำกำไร หลังจากราคาทองพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้

ณ เวลา 21.23 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 25.40 ดอลลาร์ หรือ 1.30% สู่ระดับ 1,927.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุดในวันนี้ ขานรับนโยบายใหม่ของเฟด ซึ่งจะปูทางให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ

เฟดเปิดการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮลในวันนี้ ในหัวข้อ "Navigating the Decade Ahead: Implications for Monetary Policy"

การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงิน และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

นายพาวเวลได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ โดยเขาได้ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ ซึ่งเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ

การประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในวันนี้ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น

ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนถึงขีดอันตราย ทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้าด้วยการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%

นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะระบุรายละเอียดของการใช้เครื่องมือ "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 15-16 ก.ย. โดยเฟดจะกำหนดช่วงการปรับตัวขึ้นลง หรือช่วง +/- ของอัตราเงินเฟ้อจากระดับ 2%

ก่อนหน้านี้ เฟดกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% แต่ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน เฟดพบว่าเงินเฟ้อในสหรัฐมักอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายดังกล่าว ส่งผลให้เฟดมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อต่ำ ทำให้เฟดมีแนวคิดที่จะปล่อยให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักการขยายตัวที่อ่อนแอในระยะยาว และอำนาจการกำหนดราคาในระดับต่ำ

"หลายคนอาจไม่เห็นด้วยที่เฟดจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปจะสร้างความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ" นายพาวเวลกล่าว

ประธานเฟดยังได้ระบุว่าสถานการณ์ในปัจจุบันได้แตกต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเฟดในขณะนั้นต้องทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เฟดต้องหันมาให้ความสนใจต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 31.7% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1

อย่างไรก็ดี ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 2/2563 ดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจหดตัวลง 32.9% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 34.7%

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.006 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากมีการรายงานจำนวน 1.104 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 14.5 ล้านราย หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์สู่ระดับ 24.912 ล้านรายในช่วงต้นเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ