สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (15 ม.ค.) โดยถูกกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่นๆ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 21.5 ดอลลาร์ หรือ 1.16% ปิดที่ 1,829.94 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 93.6 เซนต์ หรือ 3.63% ปิดที่ 24.866 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 36.5 ดอลลาร์ หรือ 3.24% ปิดที่ 1,089.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 28.20 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,395.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นถ่วงราคาทองร่วงลง โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.59% สู่ระดับ 90.7700
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก และหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกลดลง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า ในระยะยาวนั้นราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มที่สดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และหนุนราคาทองปรับตัวขึ้น
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้นั้น ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 79.2 ในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 79.4 จากระดับ 80.7 ในเดือนธ.ค.
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย.กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% เช่นกันในเดือนพ.ย.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.7% ในเดือนธ.ค ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 หลังจากลดลง 1.4% ในเดือนพ.ย. และยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ดิ่งลง 1.9% ในเดือนธ.ค. หลังจากลดลง 1.1% ในเดือนพ.ย.