ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งกว่า 20 ดอลลาร์ เหนือ 1,810 แต่ยังคงดิ่งกว่า 2% สัปดาห์นี้

ข่าวต่างประเทศ Saturday February 6, 2021 00:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 20 ดอลลาร์ เหนือระดับ 1,810 ดอลลาร์ในวันนี้ แต่ราคาทองยังคงดิ่งลงในสัปดาห์นี้ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ณ เวลา 00.09 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 22.30 ดอลลาร์ หรือ 1.24% สู่ระดับ 1,813.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1,800 ดอลลาร์ในช่วงแรก แต่แรงซื้อเก็งกำไรได้เข้าหนุนให้ราคาดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา

ราคาทองดิ่งลง 2.2% ในสัปดาห์นี้ ทำสถิติปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 สัปดาห์ จากปัจจัยการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์ระบุว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่เทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ราคาทองยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องรีบเร่งอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า หากสหรัฐยังคงมีการสร้างงานในอัตราปัจจุบัน ก็จะต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าที่จะกลับไปสู่ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และสิ่งนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนได้พบปะกับสมาชิกสภาคองเกรสในระยะนี้ โดยหวังที่จะผลักดันมาตรการดังกล่าวให้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภา แม้เผชิญเสียงท้วงติงจากสมาชิกพรรครีพับลิกันเกี่ยวกับวงเงินที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันนี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 49,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.3% ในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.7%

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย.2563 โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 264,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 336,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค.2563 โดยปรับเป็นลดลง 227,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าลดลง 140,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐปรับตัวลงในเดือนธ.ค.2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ในปีเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก ท่ามกลางการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ