ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นเกือบ 25 ดอลลาร์ ใกล้แตะระดับ 1,840 ดอลลาร์ในวันนี้ ขานรับความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ราคาทองยังคงถูกกดดันจากปัจจัยการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง ทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ณ เวลา 22.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ดีดตัวขึ้น 24.80 ดอลลาร์ หรือ 1.36% สู่ระดับ 1,837.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ พรรคเดโมแครตประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐให้การอนุมัติต่อแนวทางการจัดทำงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ budget reconciliation ด้วยคะแนนเสียง 219-209 ขณะที่วุฒิสภาให้การรับรองด้วยคะแนนเสียง 51-50 โดยนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ลงคะแนนเสียงชี้ขาด 1 เสียงในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง หลังจากที่สมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันลงคะแนนเสียงเท่ากัน 50-50
การที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐให้การอนุมัติแนวทางการจัดทำงบประมาณดังกล่าว จะช่วยปูทางให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของปธน.ไบเดนสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน
ทางด้านนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวหลังจากที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติแนวทาง budget reconciliation เมื่อวันศุกร์ว่า คาดว่ารัฐสภาสหรัฐจะสามารถลงมติให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาชาวสหรัฐและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง
นักลงทุนคาดการณ์ว่าสหรัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 49,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.3% ในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.7%
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องรีบเร่งอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
ปธน.ไบเดนกล่าวว่า หากสหรัฐยังคงมีการสร้างงานในอัตราปัจจุบัน ก็จะต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าที่จะกลับไปสู่ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และสิ่งนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นว่า การจ้างงานในสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งในปี 2565 หากสภาคองเกรสให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
นางเยลเลนยังกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลสหรัฐไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า และอาจต้องใช้เวลานานจนถึงปี 2568 กว่าที่อัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4% อีกครั้ง