ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดร่วง $24.2 เหตุบอนด์ยีลด์พุ่ง-ดอลล์แข็งฉุดตลาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 17, 2021 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,800 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 24.2 ดอลลาร์ หรือ 1.33% ปิดที่ 1,799 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 0.3 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 27.325 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 20.6 ดอลลาร์ หรือ 1.64% ปิดที่ 1,279.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 5.60 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,388.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อคืนนี้ โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะเดียวกันการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 90.5219. เมื่อคืนนี้

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับแรงกดดันจากคำสั่งขายสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากเฟดสาขานิวยอร์กรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวขึ้น 8.6 จุด แตะระดับ 12.1 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9

ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 0 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยดัชนีมีค่าเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ