ทั้งนี้ เมื่อตลาดทองคำเกิดภาวะ Death Cross ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า ราคาทองคำกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาลงในระยะยาว
เจสัน ทีด นักวิเคราะห์จาก Gold Bullion Strategy Fund กล่าวว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ราคาทองคำร่วงลงติดต่อกันหลายวันนั้น มาจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 1.33% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ขณะเดียวกันการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทองในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย
นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยิ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดทองคำเช่นกัน เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
ไคลิน เบิร์ช นักวิเคราะห์จาก The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า ราคาทองมีแนวโน้มทรุดตัวลงสู่ระดับ 1,775 ดอลลาร์/ออนซ์ในไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย และจากนั้นราคาทองจะดิ่งลงสู่ระดับ 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์ในไตรมาส 4 แต่หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักลง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองดีดตัวขึ้นอีกครั้ง
สำหรับภาวะ Death Cross ครั้งหลังสุดในตลาดทองคำนิวยอร์กนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ขณะที่ภาวะ Golden Cross ซึ่งเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันตัดขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 ซึ่งบ่งชี้ว่าราคาทองคำได้เข้าสู่ช่วงขาขึ้นในระยะยาว