ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่ง 40 ดอลลาร์ หลุดแนว 1,740 ปัจจัยบอนด์ยีลด์ทุบราคา

ข่าวต่างประเทศ Friday February 26, 2021 22:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลง 40 ดอลลาร์ หลุดระดับ 1,740 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี

ณ เวลา 22.20 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 40.20 ดอลลาร์ หรือ 2.20% สู่ระดับ 1,735.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองดิ่งลงเกือบ 2% วานนี้ และร่วงลง 4.4% นับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.

ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลดการถือครองทอง 0.6% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีอ่อนตัวลงในวันนี้ แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 1.47% หลังจากพุ่งขึ้นเหนือ 1.6% วานนี้ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่เทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันนี้ เนื่องจากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้รับการอนุมัติ ก็จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป ก่อนที่จะให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่า กระบวนการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

ก่อนหน้านี้ สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

ขณะนี้ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ส่วนในวุฒิสภานั้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50-50 เสียง ดังนั้น การที่วุฒิสภาจะให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยคะแนนเสียงชี้ขาด 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะลงคะแนนเสียงในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขว่า วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจะไม่สามารถแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ