ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดร่วง 12.1 ดอลล์ บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 13, 2021 07:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (12 เม.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 12.1 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 1,732.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 45.8 เซนต์ หรือ 1.81% ปิดที่ 24.867 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 34.5 ดอลลาร์ หรือ 2.85% ปิดที่ 1,174.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 35.90 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 2,671.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 1.68% เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 Minutes" ของสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อวันอาทิตย์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญกับความเสี่ยงหากมีการเปิดเศรษฐกิจรวดเร็วเกินไป

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยดัชนี CPI ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ และเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ