ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ 1.5 ดอลล์ เหตุบอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2021 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.5 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,836.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 17.5 เซนต์ หรือ 0.64% ปิดที่ 27.667 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 24.3 ดอลลาร์ หรือ 1.92% ปิดที่ 1,241.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 42 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 2,926.20 ดอลลาร์/ออนซ์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวสู่ระดับ 1.62% เมื่อคืนนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% แตะที่ 90.1424 เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลงและมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งหากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ