ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงใกล้หลุด 1,830 ดอลลาร์ ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งฉุดตลาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2021 21:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงใกล้หลุดระดับ 1,830 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ณ เวลา 21.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 5.50 ดอลลาร์ หรือ 0.3% สู่ระดับ 1,830.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ส่วนการแข็งค่าของดอลลาร์จะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.3%

นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และคาดว่าตัวเลขดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี จะถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ตลาดกังวลว่า ตัวเลข CPI ที่พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะทำให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ