สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 36.6 ดอลลาร์ หรือ 1.92% ปิดที่ 1,873.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 72.7 เซนต์ หรือ 2.58% ปิดที่ 27.477 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 30.2 ดอลลาร์ หรือ 2.53% ปิดที่ 1,162.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 42 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,826.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำดิ่งหลุดแนวต้านเส้นสำคัญที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.67% แตะที่ 90.5098 เมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 385,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2563 นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงต่ำกว่าระดับ 400,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 978,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 680,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563
ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 62.7 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีเดือนพ.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 63
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของไอเอชเอส มาร์กิตซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 70.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2552