ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $14 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์เพิ่มกดดันตลาด

ข่าวต่างประเทศ Saturday July 17, 2021 07:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดนั้น ยังกระตุ้นให้นักลงทุนขายสัญญาทองคำออกมาเพื่อลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 14 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 1,815 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 59.9 เซนต์ หรือ 2.27% ปิดที่ 25.795 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 29.2 ดอลลาร์ หรือ 2.57% ปิดที่ 1,108.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 92.0 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 2,637.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.07% แตะ 92.6904 เมื่อคืนนี้

การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

สัญญาทองคำยังถูกกดดัน เนื่องจากนักลงทุนได้ลดการถือครองสัญญาทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 0.4% หลังจากดิ่งลง 1.7% ในเดือนพ.ค. และยอดค้าปลีกพื้นฐานซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์, น้ำมัน, วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากลดลง 1.4% ในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังถูกถ่วงลงจากรายงานที่ว่า กองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลดการถือครองทองคำลงสู่ระดับ 1,034.37 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ