สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 36.60 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 1,726.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.057 ดอลลาร์ หรือ 4.35% ปิดที่ 23.269 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.3 ดอลลาร์ หรือ 0.13% ปิดที่ 970.9 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 28 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 2,602.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปิดตลาดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า เฟดอาจเริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 943,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี จากระดับ 938,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.4% ในเดือนก.ค. จากระดับ 5.9% ในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.16% แตะที่ 92.9410 เมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพุธ และจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ในวันพฤหัสบดี
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี
นักลงทุนกังวลว่า หากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค. หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการ QE รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ