ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงใกล้หลุดระดับ 1,780 ดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
ณ เวลา 22.57 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 10.20 ดอลลาร์ หรือ 0.57% สู่ระดับ 1,784.80 ดอลลาร์/ออนซ์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2526 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% เช่นกันในเดือนพ.ย.
ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.8% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2525 หลังจากดีดตัวขึ้น 5.7% ในเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 33% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 5 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 22%
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 1.50% ในเดือนธ.ค. จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.00-0.25%
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดยังคงสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกมาก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน