สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ (9 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.70 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,836.60 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยสัญญาทองคำยังคงปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2565
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 14 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 23.341 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.1 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 1,037.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 20.90 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 2,285.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำดีดตัวขึ้นปิดที่เหนือระดับ 1,830 ดอลลาร์ หลังจากดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.15% แตะที่ 95.4950 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.925% เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทองคำ โดยทำให้สัญญาทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 7.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2525
แม้ว่าในแง่ทฤษฎี ทองคำจะได้รับประโยชน์ หากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น เนื่องจากคาดว่านักลงทุนจะเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แต่ในความเป็นจริง เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดทองคำ เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย