ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นในวันนี้ ซึ่งเป็นการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนมี.ค. และวันสุดท้ายของไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
ณ เวลา 23.37 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดีดตัวขึ้น 6.60 ดอลลาร์ หรือ 0.34% สู่ระดับ 1,945.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองพุ่งขึ้นเกือบ 2% ในเดือนนี้ และมีแนวโน้มทำสถิติปรับตัวขึ้นมากที่สุดในไตรมาสนี้นับตั้งแต่กลางปี 2563 ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกในวันนี้จากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2526 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ