ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวแคบในวันนี้ ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันพรุ่งนี้
ณ เวลา 21.33 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.07% สู่ระดับ 1,857.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ถึงแม้ทองได้รับการมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ได้บดบังปัจจัยบวกดังกล่าว โดยการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทอง เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอตัวลง หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันพรุ่งนี้เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 8.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และต่ำกว่าระดับ 1.2% ในเดือนมี.ค.
ขณะเดียวกัน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 6.0% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับ 6.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2525
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยผลสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือนเม.ย. พบว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก 1,300 ครัวเรือนพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าลดลง 0.3% สู่ระดับ 6.3% ในเดือนเม.ย. จากการคาดการณ์ว่าราคาอาหารและพลังงานจะชะลอตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าดีดตัวแตะ 6.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะกลางสำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 3.9% จากระดับ 3.7% ในเดือนมี.ค.