สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (14 ต.ค.) โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง และได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 28.1 ดอลลาร์ หรือ 1.68% ปิดที่ 1,648.9 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลง 3.5% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 84.7 เซนต์ หรือ 4.48% ปิดที่ 18.071 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.5 ดอลลาร์ หรือ 0.17% ปิดที่ 894.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 119.90 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 1,997.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.84% แตะที่ระดับ 113.3090
การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนยังได้ลดแรงซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นในเดือนต.ค. แต่การคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกยังบ่งชี้ด้วยว่า ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 58.6 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 59.0 ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.7% ที่มีการสำรวจในเดือนก.ย. ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.9% โดยสูงกว่าระดับ 2.7% ที่มีการสำรวจในเดือนก.ย.
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.