ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 1,800 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งเกินคาด ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงของแรงงานสูงกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 21.15 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลบ 18.90 ดอลลาร์ หรือ 1.04% สู่ระดับ 1,796.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญตัวสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 13-14 ธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวระดับ 3.7% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4.6%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ราคาทองยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนขายทำกำไร หลังราคาพุ่งขึ้นอย่างมากวานนี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดตลาดวานนี้พุ่งขึ้น 55.30 ดอลลาร์ หรือ 3.14% สู่ระดับ 1,815.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
นอกจากนี้ ราคาทองพุ่งขึ้นกว่า 8% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการทะยานขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563 หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 7 เดือนก่อนหน้านี้