ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวแคบในวันนี้ ขณะที่ตลาดจับตาตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ
ณ เวลา 19.16 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลบ 0.60 ดอลลาร์ หรือ 0.03% สู่ระดับ 1,824.80 ดอลลาร์/ออนซ์
นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3, ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศจากเฟดชิคาโก และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจาก Conference Board
นอกจากนี้ ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
นายเยิร์ก คีเนอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนของบริษัทสวิส เอเชีย แคปิตอล กล่าวว่า ราคาทองคำอาจพุ่งสูงถึง 4,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในปี 2566 เนื่องจากหลายประเทศอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในทองคำ
"นับตั้งแต่ปี 2543 ทองให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 8-10% ต่อปี ซึ่งคุณจะหาไม่ได้จากตลาดพันธบัตรหรือตลาดหุ้น" นายคีเนอร์กล่าว
นอกจากนี้ ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2566
นายคีเนอร์ระบุว่า จีนยังคงถือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดทอง
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ทางธนาคารกลางซื้อทองเพิ่มขึ้นราว 1.8 พันล้านดอลลาร์เข้าสู่ทุนสำรอง ส่งผลให้จีนมีทองคำสำรองมูลค่าสะสมราว 1.12 แสนล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า ธนาคารกลางหลายแห่งได้ซื้อทองคำจำนวน 400 ตันในไตรมาส 3/2565 คิดเป็นเกือบสองเท่าของสถิติ 241 ตันที่ทำไว้ในไตรมาส 3/2561