สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (20 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 4.3 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,928.2 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการบวกขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน และยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 6.5 เซนต์ หรือ 0.27% ปิดที่ 23.935 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 6.7 ดอลลาร์ หรือ 0.64% ปิดที่ 1,047.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 45.30 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 1,723.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น หลังนายแพตทริก ฮาเคอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยในวันศุกร์ว่า เขาคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% นั้นเหมาะสม หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากการที่บรรดานักลงทุนเริ่มวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 1.5% สู่ระดับ 4.02 ล้านยูนิตในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2553 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.96 ล้านยูนิต โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน
เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านดิ่งลง 34.0% ในเดือนธ.ค. โดยยอดขายบ้านมือสองได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังปรับตัวขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกของปีนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐต่างบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 76.7% ทั้งนี้ การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ นอกจากนี้ ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ซึ่งแม้เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง