สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 มี.ค.) โดยได้แรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐ หลังการสั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวนั้น ได้ช่วยหนุนแรงซื้อทองคำด้วย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 1.78% ปิดที่ 1,867.20 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 0.7% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 34.10 เซนต์ หรือ 1.69% ปิดที่ 20.506 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 12.90 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 962.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 12.40 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 1,362.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้แรงหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง แต่ชะลอตัวจากระดับ 504,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4%
กรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนียและบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้สั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) หลังจากบริษัทเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทแม่เปิดเผยว่า บริษัทขาดทุนอย่างหนักจากการขายหลักทรัพย์เมื่อวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.)
การปิดกิจการ SVB ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบในภาคธนาคาร ซึ่งเป็นแรงหนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย
ดัชนีดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐนั้น ได้ช่วยหนุนราคาทองด้วย
การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.68% สู่ระดับ 104.5913
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ลดลง จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
บรรดานักลงทุนรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันอังคารหน้า (14 มี.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงใดในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนนี้