ราคาทองฟิวเจอร์ทรุดหนัก ล่าสุดแนวรับ $2,000 เอาไม่อยู่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 19, 2023 19:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ณ เวลา 19.01 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 37.40 ดอลลาร์ หรือ 1.85% สู่ระดับ 1,982.20 ดอลลาร์/ออนซ์

นอกจากนี้ ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักลงทุนวิตกว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%

นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านดอกเบี้ยเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน

อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายระบุเตือนในการประชุมเดือนมี.ค.ว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้

ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายบอสติกสวนทางคาดการณ์ของตลาด ซึ่งมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ก่อนสิ้นปี 2566

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ