สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (28 เม.ย.) โดยนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำก่อนการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 10 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 1,999.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่บวกขึ้น 0.4% ในรอบสัปดาห์นี้ และบวกเกือบ 0.7% ในเดือนเม.ย.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.70 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 25.226 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.28% ปิดที่ 1,090.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 17.50 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,509.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากแรงซื้อของนักลงทุนก่อนการประชุมของเฟดในวันที่ 2-3 พ.ค.นี้ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันศุกร์เป็นไปอย่างไรทิศทาง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.1% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. และชะลอตัวจากระดับ 0.3% ในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% แต่ชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้น 1.2% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในไตรมาส 4/2565
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI พุ่งขึ้น 4.8% จากระดับ 4.0% ในไตรมาส 4/2565
ทั้งนี้ ดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือในการชี้วัดตลาดแรงงาน และเป็นดัชนีคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 62.0 ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างดีดตัวขึ้น
ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าระดับ 3.6% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% สูงกว่าระดับ 2.9% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว