สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ในวันพฤหัสบดี (11 ม.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 8.60 ดอลลาร์ หรือ 0.42% ปิดที่ 2,019.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 36.10 เซนต์ หรือ 1.57% ปิดที่ 22.705 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 10.00 ดอลลาร์ หรือ 1.08% ปิดที่ 919.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 12.20 ดอลลาร์ หรือ 1.22% ปิดที่ 983.00 ดอลลาร์/ออนซ์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.1% ในเดือนพ.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.8% จากระดับ 4.0% ในเดือนพ.ย.
ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งลดลงจากระดับ 71% ในช่วงก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลข CPI
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 210,000 ราย
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และอาจทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น