สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (13 ก.พ.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 25.80 ดอลลาร์ หรือ 1.27% ปิดที่ 2,007.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 61.30 เซนต์ หรือ 2.69% ปิดที่ 22.154 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 18.20 ดอลลาร์ หรือ 2.03% ปิดที่ 878.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 36.10 ดอลลาร์ หรือ 4.02% ปิดที่ 860.50 ดอลลาร์/ออนซ์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.4% ในเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนม.ค. นักลงทุนได้เลื่อนการคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในเดือนพ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 36.1% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ค. ซึ่งลดลงจากระดับ 58% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI พร้อมกับให้น้ำหนัก 74.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI ที่สูงเกินคาดยังส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.76% แตะที่ระดับ 104.961 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ พุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.3% เมื่อคืนนี้