สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวเพิ่มขึ้นในการซื้อขายเมื่อวันอังคาร (27 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนเพื่อชดเชยการขายชอร์ต (short covering) ด้วย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ หรือ 0.26% ปิดที่ 2,044.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2.20 เซนต์ หรือ 0.10% ปิดที่ 22.757 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ หรือ 1.80% ปิดที่ 897.0 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 14.50 ดอลลาร์ หรือ -1.5% ปิดที่ 952.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ไม่ได้บ่งชี้ทิศทางชัดเจน โดยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันอังคารระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 110.9 ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 6.1% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 4.5% หลังจากปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลง 0.8% ในเดือนม.ค.
นักลงทุนจะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้แนวโน้มการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาทิ ข้อมูลจีดีพี, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และกิจกรรมการผลิต
จุดสนใจของตลาดจะอยู่ที่การเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
หากข้อมูล PCE บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อ ก็อาจจะทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงในปัจจุบันต่อไปนานกว่าที่ตลาดคาดไว้