ราคาทองร้อนแรงหยุดไม่อยู่! ล่าสุดทะลุ 2,200 ดอลลาร์

ข่าวต่างประเทศ Saturday March 9, 2024 00:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุระดับ 2,200 ดอลลาร์ ขานรับรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ณ เวลา 00.30 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. บวก 36.30 ดอลลาร์ หรือ 1.68% สู่ระดับ 2,201.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองสปอตพุ่งขึ้นแตะ 2,185.19 ดอลลาร์/ออนซ์ในการซื้อขายวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาทะยานขึ้นมากกว่า 4.1% ในสัปดาห์นี้ ทำสถิติพุ่งขึ้นมากที่สุดเทียบรายสัปดาห์ในรอบ 5 เดือน หรือนับตั้งแต่กลางเดือนต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และจะเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของราคาทองสปอต

นอกจากนี้ ตลาดได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานดังกล่าว รวมทั้งการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.พ.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 59.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 41.0% เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ นักลงทุนขานรับรายงานการจ้างงานดังกล่าว ซึ่งระบุว่า อัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% และจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้ การที่สหรัฐปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 229,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่ง ก็เป็นการบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไม่ได้อยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไป แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

"เราคิดว่ารายงานการจ้างงานในวันนี้เป็นปัจจัยบวกที่บ่งชี้ว่า เฟดสามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะซอฟต์แลนดิ้ง หรือสามารถควบคุมเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง โดยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลง โดยแม้ตัวเลขการจ้างงานมีความแข็งแกร่ง แต่ก็ถูกหักล้างด้วยตัวเลขว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการปรับลดตัวเลขจ้างงานในเดือนม.ค." นายแลร์รี เทนทาเรลลี หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านเทคนิคของ Blue Chip Daily Trend Report ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ