ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $14.70 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 14, 2024 07:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (13 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 14.70 ดอลลาร์ หรือ 0.68% ปิดที่ 2,180.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 76.20 เซนต์ หรือ 3.12% ปิดที่ 25.156 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 16.70 ดอลลาร์ หรือ 1.80% ปิดที่ 944.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 20.40 ดอลลาร์ หรือ 1.94% ปิดที่ 1071.00 ดอลลาร์/ออนซ์

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.16% แตะที่ระดับ 102.789 เมื่อคืนนี้ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศว่า อิสราเอลจะเดินหน้าใช้ปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แม้ว่าอิสราเอลจะถูกกดดันจากนานาชาติเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยขณะนี้หลายประเทศรวมถึงสหรัฐได้เรียกร้องให้อิสราเอลยกเลิกแผนโจมตีเมืองราฟาห์ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยแห่งสุดท้ายในฉนวนกาซา โดยเป็นที่พักพิงของประชาชนราว 1.5 ล้านคน

ส่วนทางด้านรัสเซียนั้น ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียมีความพร้อมทางด้านเทคนิคในการทำสงครามนิวเคลียร์ และรัสเซียพร้อมที่จะทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ หากสหรัฐเป็นฝ่ายดำเนินการก่อน

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ส่วนในวันศุกร์จะมีการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ