ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงใกล้หลุดระดับ 2,330 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 5.80 ดอลลาร์ หรือ 0.25% สู่ระดับ 2,332.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.6% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.4%
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1/2567 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค
สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2%, 2.1%, 4.9% และ 3.4% ในไตรมาส 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในไตรมาส 1/2567 พุ่งขึ้น 3.4% ซึ่งสูงกว่าในไตรมาส 4/2566 ที่ปรับตัวขึ้น 1.8% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 3.7% สูงกว่าในไตรมาส 4/2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.0% ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.