สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 1% ในวันพฤหัสบดี (30 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 25.30 ดอลลาร์ หรือ 1.08% ปิดที่ 2,366.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 83.9 เซนต์ หรือ 2.59% ปิดที่ 31.534 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 18.90 ดอลลาร์ หรือ 1.77% ปิดที่ 1,047.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 17.70 ดอลลาร์ หรือ 1.81% ปิดที่ 958.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.36% แตะที่ระดับ 104.716 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 4.6% เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1 ขยายตัว 1.3% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 1.6% โดยเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 218,000 ราย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 50.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 48.7% ในช่วงก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)