สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (3 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนมองว่าดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลงด้วย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 23.50 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 2,369.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 34.4 เซนต์ หรือ 1.13% ปิดที่ 30.784 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 19.20 ดอลลาร์ 1.84% ปิดที่ 1,022.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 13.80 ดอลลาร์ หรือ 1.51% ปิดที่ 926.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 48.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.6 โดยดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว
หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 59% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 53% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
นอกจากนี้ ดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.51% แตะที่ระดับ 104.140 เมื่อคืนนี้ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยข้อมูลดังกล่าวรวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) , ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP, ดัชนีภาคบริการจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร