ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงอย่างหนักในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงกว่า 60 ดอลลาร์ หลุดระดับ 2,330 ดอลลาร์ หลังมีข่าวว่า ธนาคารกลางจีนได้ระงับการซื้อทองเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือนพ.ค. หลังจากที่ได้ซื้อติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน
ณ เวลา 21.09 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลบ 65.30 ดอลลาร์ หรือ 2.73% สู่ระดับ 2,325.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองยังได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานดังกล่าว
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 182,000 ตำแหน่ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางจีนได้ระงับการซื้อทองเข้าสู่กองทุนสำรองในเดือนพ.ค. หลังจากที่ได้ซื้อติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน เนื่องจากราคาทองสปอตพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ราคาทองสปอตทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,449.89 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันที่ 20 พ.ค. โดยราคาพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมี.ค.-พ.ค. ขณะที่ได้แรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า จีนได้ถือครองทองจำนวน 72.80 ล้านทรอยออนซ์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นเดือนเม.ย. ขณะที่มูลค่าทองคำสำรองของจีนพุ่งสู่ระดับ 1.7096 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6796 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.
ความต้องการซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยผลักดันราคาทองในตลาด ขณะที่สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดในปี 2566 โดยซื้อสุทธิ 7.23 ล้านออนซ์ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดภายในปีเดียวนับตั้งแต่ปี 2520