ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นใกล้ทะลุระดับ 2,340 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 21.04 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. บวก 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.13% สู่ระดับ 2,339.70 ดอลลาร์/ออนซ์
นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง ทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือนธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE ที่ชะลอตัวลง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 59.5% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 44.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 43.0% เมื่อวานนี้
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้ว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)