ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงใกล้หลุดระดับ 2,660 ดอลลาร์ โดยถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 20.59 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลบ 5.90 ดอลลาร์ หรือ 0.22% สู่ระดับ 2,660.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ราคาทองได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนเริ่มหันมาให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. โดยอาจเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 13.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 0.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 86.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 65.3% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ย.นั้น นักลงทุนให้น้ำหนัก 0.0% จากเดิมที่ให้น้ำหนัก 34.7% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.ย.ในวันพฤหัสบดีนี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 3.2% เช่นกันในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค.