ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริกของชิลีเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) ว่า รัฐบาลจะเข้าควบคุมอุตสาหกรรมลิเทียมของชิลีซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยลิเทียมถือเป็นโลหะสำคัญในแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชิลีซึ่งมีปริมาณลิเทียมสำรองมากที่สุดในโลกจะโอนธุรกิจผลิตลิเทียมขนาดใหญ่ของประเทศจากบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ 2 แห่งซึ่งได้แก่เอสคิวเอ็ม (SQM) และอัลเบมาร์ล (Albemarle) ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของรัฐบาลชิลี
การดำเนินการดังกล่าวจะนับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในการจัดหาวัสดุสำหรับการผลิตแบตเตอรี ขณะที่ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นก็พยายามที่จะปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเม็กซิโกได้เข้าควบคุมแหล่งลิเทียมในปีที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเซียห้ามการส่งออกแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตแบตเตอรีในปี 2563
แบตเตอรีลิเทียมไอออนเป็นส่วนประกอบหลักสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ บริษัทต่างๆ กำลังมองหาแหล่งสำรองเนื่องจากตลาดลิเทียมทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ
เม็กซิโกกำลังดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลอาร์เจนตินา โบลิเวีย และชิลี เพื่อสร้างสมาคมลิเทียม เพื่อให้ประเทศต่างๆ ซึ่งมีปริมาณลิเทียมรวมกันมากกว่าครึ่งของโลกนั้น สามารถแบ่งปันความเชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากแร่ลิเทียมดังกล่าว