นิปปอน สตีล (Nippon Steel) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ (4 ก.ย.) ว่า สมาชิกคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของยูไนเต็ด สเตตส์ สตีล (United States Steel) หรือยูเอส สตีลของสหรัฐฯ จะเป็นพลเมืองสหรัฐฯ หากการควบรวมกิจการได้ไปต่อ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นิปปอน สตีล ออกประกาศดังกล่าวในเวลาไม่กี่วันหลังจากที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ ออกมาคัดค้านการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว โดยระบุว่ายูเอส สตีลควรดำเนินงานภายในประเทศ ซึ่งข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นิปปอน สตีล ซึ่งเคยระบุว่า ยูเอส สตีลจะยังคงมีสำนักงานใหญ่อยู่ในพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนียต่อไป เปิดเผยในการแถลงข่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการหลังการเข้าซื้อกิจการจะมีผู้อำนวยการอิสระ 3 คนที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ด้วย
นโยบายด้านการกำกับดูแลของแฮร์ริสได้รับการประกาศออกมาหลังการเดินสายหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันจันทร์ (2 ก.ย.) ว่า ยูเอสสตีลควรยังคงเป็นของสหรัฐฯ และดำเนินกิจการภายในประเทศต่อไป ในขณะที่เธอกำลังพยายามหาเสียงสนับสนุนจากคนงาน
ทั้งนี้ นิปปอน สตีล และยูเอส สตีล ได้ประกาศข้อตกลงการซื้อกิจการมูลค่า 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. 2566 โดยยูเอส สตีลและกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทได้สนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการ โดยมองว่าจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกมากขึ้น และจะนำไปสู่การสร้างบริษัทผลิตเหล็กที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาในแง่ปริมาณ
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานยูไนเต็ด สตีลเวิร์กเกอร์ส อินเตอร์เนชันแนล (United Steelworkers International) ได้ออกมาคัดค้านการทำข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ละเอียดอ่อน
การแสดงความเห็นล่าสุดของแฮร์ริสเกี่ยวกับยูเอส สตีลนั้น สอดคล้องกับที่ปธน.โจ ไบเดนได้กล่าวหลายครั้งในปีนี้ว่า ยูเอส สตีล ควรจะยังคงเป็นเจ้าของโดยชาวอเมริกัน ขณะที่สหภาพแรงงานยูไนเต็ด สตีลเวิร์กเกอร์ส อินเตอร์เนชันแนล ได้ให้การสนับสนุนแฮร์ริสนับตั้งแต่ไบเดนถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี