องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ราคาอาหารทั่วโลกในเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันพืชและน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก และราคานมก็ปรับตัวขึ้นด้วย ซึ่งได้ช่วยชดเชยการลดลงของราคาอาหารชนิดอื่นๆ
FAO ระบุว่า ดัชนีรวมของราคาอาหารในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2562 โดยดัชนีราคารวมปรับตัวขึ้น แม้ว่าราคาธัญพืชและธัญญาหารซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนีอาหารโลกนั้น ปรับตัวลง 0.6% ก็ตาม
ราคาข้าวสาลีร่วงลงมากที่สุด เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวที่แข็งแกร่งในหลายประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่ราคาข้าวลดลงเล็กน้อยจากปัจจัยทางเทคนิค ส่วนราคาข้าวโพดยังคงทรงตัว
ราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวลง 0.6% โดย FAO ระบุว่า ระดับการผลิตเนื้อไก่และเนื้อวัวนั้นมากพอที่จะชดเชยความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากจีนและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ขณะที่ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิ.ย.
ดัชนีราคาน้ำมันพืชปรับตัวขึ้น 11.3% หลังจากลดลงตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา โดย FAO ระบุว่า ราคาน้ำมันพืชทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวขึ้นมากที่สุด
ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 10.6% โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และทำให้ความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลลดลงในตลาดโลก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO คำนวณจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารจำนวน 23 ประเภท โดยครอบคลุมถึงราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ 73 รายการ เมื่อเทียบกับปีฐาน
ทั้งนี้ FAO จะรายงานดัชนีราคาอาหารโลกครั้งต่อไปในวันที่ 6 ส.ค.นี้