ราคาสัญญาน้ำมันปาล์มดิบที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียดิ่งลงกว่า 4% ในการซื้อขายระหว่างวัน ก่อนที่จะปิดตลาดร่วงลง 2.1% หลังมีข่าวว่า อินโดนีเซียจะยังคงส่งออกน้ำมันปาล์มดิบต่อไป
ส่วนราคาสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองสหรัฐที่ซื้อขายในตลาดชิคาโกร่วงลง 0.77% ในวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ขานรับข่าวที่ว่าอินโดนีเซียประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียแจ้งต่อบริษัทน้ำมันปาล์มในวันนี้ว่า คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มที่มีการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD olein) เท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแต่อย่างใด
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้บริโภคน้ำมันพืชทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการประกาศว่าอินโดนีเซียจะระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ
ปธน.วิโดโดยังระบุว่า คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. และรัฐบาลจะประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกก็ต่อเมื่อสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารได้บรรเทาลง
ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (GAPKI) ระบุว่า อินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจำนวน 25.7 ล้านตันในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด และส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 2.74 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.98%
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนม.ค. ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมี.ค.
การส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเป็นสาเหตุทำให้น้ำมันปรุงอาหารเกิดการขาดแคลน และมีราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้นักศึกษาพากันออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล