มุสดาลิฟาห์ มัคห์มุด เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียเตรียมที่จะขยายระยะเวลาคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มโอเลอิน หากเผชิญปัญหาการขาดแคลนสารอนุพันธ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำมันปรุงอาหาร
เจ้าหน้าที่รายนี้เผยระหว่างการประชุมระหว่างรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก วางแผนที่จะระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มโอเลอินที่ผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD) แต่จะอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหรือสารอนุพันธ์อื่น ๆ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ (28 เม.ย.)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า น้ำมันปาล์มโอเลอิน RBD คิดเป็นประมาณ 40% ของยอดส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งหมดของอินโดนีเซีย ซึ่งหมายความว่า การสั่งห้ามส่งออกอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้จากการส่งออกของอินโดนีเซีย
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า โดยปกติอินโดนีเซียส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม 2.5 - 3 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปรุงอาหารและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมราคาน้ำมันปาล์มในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น แต่ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ
ทั้งนี้ คำประกาศของอินโดนีเซียส่งผลให้ราคาน้ำมันสำหรับบริโภคในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเองได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น ภัยแล้งและการขาดแคลนอันเนื่องมาจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืชหลักของโลก