เวียดนามเจอภัยแล้งหนัก กระทบผลผลิตกาแฟ ดันราคาโรบัสต้าในตลาดโลกพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Monday June 24, 2024 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวียดนาม ประเทศผู้ผลิตกาแฟอันดับสองของโลก กำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภูมิภาคที่สูงตอนกลาง

นายเหงียน หง็อก กวิ่ญ รองหัวหน้าตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เวียดนาม (MXV) คาดการณ์ว่า ผลผลิตในฤดูกาลหน้าจะลดลง 10-16% เนื่องจากความร้อนจัดที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในที่สูงตอนกลางช่วงเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ตาม ฝนที่กลับมาตกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยให้สถานการณ์ดูดีขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้กับทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสภาพอากาศที่ดีขึ้นจะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าได้หรือไม่ โดยโรบัสต้าเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในกาแฟเอสเพรสโซและกาแฟสำเร็จรูป และเป็นพันธุ์ที่เวียดนามเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงเกษตรของสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ว่าผลผลิตกาแฟของเวียดนามในฤดูกาลหน้าจะใกล้เคียงกับฤดูนี้ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในเชิงบวกมากกว่าที่เวียดนามคาดไว้มาก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไม่ว่าผลกระทบต่อผลผลิตจะเป็นอย่างไร ราคากาแฟสำหรับผู้บริโภคทั่วโลกก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยเทรดเดอร์และนักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า ราคาขายส่งในเวียดนามและราคาฟิวเจอร์ของกาแฟโรบัสต้าที่ซื้อขายในกรุงลอนดอน ได้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงต้นปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะผลผลิตในเวียดนามที่น่าผิดหวังและความกังวลเรื่องผลผลิตในฤดูกาลหน้าของเวียดนามหลังเผชิญภัยแล้ง

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ระบุว่า ราคาขายส่งที่พุ่งสูงขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาผู้บริโภคมากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อของกาแฟใน 27 ประเทศในอียูเพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในเดือนเม.ย. และ 2.5% ในอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมดื่มกาแฟโรบัสต้า

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อปีก่อนมาก แต่ก็สูงกว่าระดับ 1% ของอียูในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าโรงคั่วกาแฟอาจเริ่มผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น เทรดเดอร์รายหนึ่งในเวียดนามเตือนว่า ความกังวลเกี่ยวกับเวียดนามยังไม่จบลง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกไม่เพียงพอหลังภัยแล้งหรือฝนที่ตกหนักเกินไปก่อนฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ อาจทำให้ผลผลิตลดลงอีก

นอกจากนี้ ราคาขายส่งอาจยังคงสูงต่อไป เนื่องจากกาแฟโรบัสต้ากำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก และเกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีหลายรายได้เปลี่ยนไปปลูกทุเรียนแทนกาแฟ เนื่องจากเป็นผลไม้เขตร้อนที่มีความต้องการสูงในประเทศจีน

"พวกเขามีกำลังทรัพย์พอจะกักตุนสินค้าไว้ได้ จึงไม่ได้รีบขาย" เล ทั้ญ ซน จากซีเม็กซ์โก (Simexco) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ