ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดบวก 69 เซนต์หลังสหรัฐเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 15, 2014 07:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) หลังจากจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลก นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 69 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 98.89 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 1.18 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 108.57 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลาดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงทั้งสิ้น 3.6% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลงทั้งสิ้น 0.4%

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ หลังจาก EIA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2557 เป็น 92.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ราว 95,000 บาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังไดรับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน โดยรายงานล่าสุดระบุว่า นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐได้หารือร่วมกับนายเซอร์กี ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซียเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมงที่กรุงลอนดอน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาทางคลี่คลายความตึงเครียดในยูเครนได้ ขณะที่นายลาฟรอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า "รัสเซียจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนชาวไครเมีย" พร้อมกับกล่าวว่า "รัสเซียและสหรัฐยังไม่สามารถหาทางออกใดๆที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์ในครั้งนี้"

ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐเปิดเผยว่า การที่รัสเซียปฏิเสธที่จะใช้แนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ในไครเมียภายหลังการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวงล และอาจจะสร้างไม่พอใจให้กับสหรัฐและประเทศพันธมิตรของสหรัฐในยุโรป

นักลงทุนจับตาดูเขตปกครองตนเองไครเมียจะจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในไครเมียได้มีทางเลือกที่จะตัดสินใจว่า จะยังคงเป็นเขตปกครองตนเองในยูเครนต่อไป หรือจะยกดินแดนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ WTI ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะได้รับแรงกดดันในระหว่างวันหลังจากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนมี.ค. ลดลงแตะ 79.9 จากระดับ 81.6 ในเดือนก.พ. ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 82


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ