สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 106.91 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2556 ขณะที่ตลอดสัปดาห์ ราคาพุ่งขึ้น 4.1%
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 39 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 113.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. สำหรับตลอดสัปดาห์ ราคาพุ่งขึ้น 4.4% โดยสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนก.ค. หมดอายุในวันศุกร์ ขณะที่สัญญาเดือนส.ค.ซึ่งมีการซื้อขายมากกว่า ปิดบวก 4 เซนต์ ที่ระดับ 112.46 ดอลลาร์/บาร์เรล
แม้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นน้อยกว่าเมื่อวันพฤหัสบดี แต่ถึงกระนั้น ราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์ได้ปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. โดยยังคงได้รับแรงผลักดันจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในอิรัก หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธนิกายสุหนี่เดินหน้าบุกยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ และกำลังรุกคืบเข้าสู่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของประเทศ
บรรดาผู้นำรัฐบาลที่เป็นมุสลิม ชีอะห์ ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มผู้สนับสนุนช่วยกันปกป้องรัฐบาล ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวว่า เขากำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆทางด้านการทหาร แต่จะไม่ส่งทหารสหรัฐกลับไปประจำการในอิรักอีก
อิรักเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองในกลุ่มโอเปก รองจากซาอุดิอาระเบีย ด้วยปริมาณการส่งออกราว 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐ
แม้การผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ของอิรักอยู่ทางใต้ของประเทศ ซึ่งห่างจากจุดที่เกิดความขัดแย้งในเวลานี้ แต่ตลาดวิตกว่าสถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนมิ.ย.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 81.2 จาก 81.9 ในช่วงปลายเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ระดับ 83.0
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. และ 0.5% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี PPI เดือนพ.ค.จะขยับขึ้น