สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 57.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2552 สำหรับทั้งสัปดาห์ ราคาร่วงลง 12.2% และลดลงไปแล้ว 41% ตั้งแต่ต้นปี
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.83 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 61.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2552 โดยตลอดสัปดาห์ ราคาร่วงลง 10.5% และดิ่งลงแล้ว 44% ในปีนี้
ราคาน้ำมันร่วงลงจนฉุดไม่อยู่ โดยสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐลดลงต่ำกว่า 58 ดอลลาร์/บาร์เรล ในวันศุกร์ หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี ราคาได้ลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552
ราคาน้ำมันแตะระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงสุดเมื่อปี 2552 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก ภายหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ในปี 2558 นับเป็นสัญญาณล่าสุดว่าตลาดจะยังคงอยู่ในภาวะอุปทานล้นตลาดในปีหน้า
ความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาดได้ฉุดให้ราคาน้ำมันดิ่งลงกว่า 40% นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิ.ย. และยิ่งมีแรงเทขายมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติคงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมเดือนที่แล้ว
โดยโอเปค ซึ่งผลิตน้ำมันหนึ่งในสามของโลก มีมติคงเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน ในการประชุมที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.
ราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการบริโภคพลังงานสูง แต่ในทางกลับกัน ราคาที่ลดลงก็อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และนำไปสู่การลดการลงทุนด้านการขุดเจาะน้ำมันในโครงการใหญ่ๆหลายโครงการ
ในรายงานตลาดน้ำมันประจำเดือนธ.ค. IEA ได้ปรับลดแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2558 ลง 230,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 0.9 ล้านบาร์เรล/วัน จากการคาดการณ์ว่าการบริโภคเชื้อเพลิงจะลดต่ำลงในรัสเซีย และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คูเวต ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโอปค ประกาศลดราคาน้ำมันดิบเดือนม.ค.ให้กับลูกค้าในเอเชีย กลายเป็นสมาชิกโอเปครายที่ 3 ที่เสนอลดราคาน้ำมัน ตามหลังซาอุดิอาระเบีย และอิรัก ซึ่งเทรดเดอร์มองว่าการแข่งขันเรื่องราคาน้ำมันของบรรดาผู้ผลิตจะยิ่งฉุดให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอีก